วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555


บทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับโลกาภิวัตน์ และวิกฤตโลกร้อน
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เริ่มพระราชทานเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ พ.ศ. 2499
       ต่อมาในปี 2517 พระองค์พระราชทานพระบรมราโชวาทเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2517 แต่สังคมไทยโดยทั่วไป ยังเข้าไม่ถึงหลักการแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง        จนกระทั่งเมื่อประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน (โรคต้มยำกุ้ง) ในปี 2540 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการต่างๆ ได้ร่วมกันประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในโอกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นบทความเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัย และพระบรมราชานุญาตอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความถูกต้อง ชัดเจน เพื่อจะได้เผยแพร่ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและอย่างสูงสุดต่อไป ซึ่งพระองค์ได้มีพระมหากรุณาธิคุณปรับปรุงแก้ไข และพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ตกผลึก ชัดเจน ในหลักการอันเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อผู้นำไปปฏิบัติจะสามารถประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อไป ดังนี้ :- 


ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

ความพอเพียง 
หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรจากผลกระทบทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันต้องเสริมพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีจิตสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการโดย สศช. เป็นกรอบแนวคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ บรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.550 ก็ได้บรรจุแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในส่วนที่ 3 แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 (1)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
2พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แก่พสกนิกรคนไทยและประเทศไทยเป็นสำคัญ แต่เนื่องด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความเหมาะสมสำหรับสถานการณ์โลก ที่กำลังประสบกับปัญหาจากระบบทุนนิยมสุดโต่ง อย่างแสนสาหัสไม่เว้นแม้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับความสนใจและนำไปทดลองปฏิบัติในหลายประเทศอย่างได้ผล ดังเช่น ภูฏาน ศรีลังกา เคนยา มัลดีฟส์ ฯลฯ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังใช้กับประเด็นปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนได้อย่างดีอีกด้วย
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับปรากฏการณ์เรือนกระจก ที่ศาลาดุสิดาลัย อย่างลึกซึ้ง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้รับสนองกระแสพระราชดำรัส นำเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งทำให้วันที่ 4 ธ.ค. ของทุกปี เป็น วันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา

จากผลงานพระราชดำริและการทรงลงมือปฏิบัติพัฒนาด้วยพระองค์เอง เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีคุณประโยชน์ต่อคนชนชาติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของมนุษย์และการเมือง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก องค์การสหประชาชาติ โดยนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ จึงได้เดินทางมาประเทศไทย ในวาระมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 26 พ.ค. 2549 เพื่อถวายรางวัล "UNDP Human Development Lifetime Achievement Award" (รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์) ซึ่งเป็นรางวัลประเภท Life - Long Achievement และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในโลกที่ได้รับรางวัลนี้
องค์การสหประชาชาติ ได้ยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น "พระมหากษัตริย์นักพัฒนา" และกล่าวถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ของพระองค์ว่า เป็นปรัชญาหรือทฤษฎีใหม่ที่นานาประเทศรู้จักและยกย่อง โดยที่องค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มิใช่เป็นเพียงปรัชญานามธรรม หากเป็นแนวทางปฏิบัติซึ่งสามารถจะช่วย ทั้งแก้ไขและป้องกันปัญหาที่เกิดจากกิเลสมนุษย์ และความเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนรุนแรงขึ้น ที่กำลังเกิดขึ้นกับมนุษย์ทั้งโลก และปัญหาที่ลุกลามต่อถึงธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเชิงรุนแรง และสร้างปัญหาย้อนกลับมาที่มนุษย์

โดยทั่วไป มักเข้าใจกันว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เหมาะที่จะใช้เฉพาะกับคนยากจน คนระดับรากหญ้า และประเทศยากจน อีกทั้งเครื่องมือ เทคโนโลยี ก็จะต้องใช้เฉพาะเครื่องมือราคาถูกเทคโนโลยีต่ำ การลงทุนไม่ควรจะมีการลงทุนระดับใหญ่ แต่ในความเป็นจริง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็ต้องการคนและความคิดที่ก้าวหน้า คนที่กล้าคิดกล้าทำในสิ่งใหม่ๆ 
เนื่องจากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่มีสูตรสำเร็จหรือคู่มือการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับภารกิจ ดังเช่น วิกฤตโลกร้อน ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องศึกษาทำความเข้าใจ แล้วก็พัฒนาแนวทางหรือแนวปฏิบัติสำหรับแต่ละปัญหาขึ้นมา โดยยึดหลักที่สำคัญ ดังเช่น
- การคิดอย่างเป็นระบบ อย่างเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
- หลักคิดที่ใช้ ต้องเป็นหลักการปฏิบัติที่เป็นสายกลาง ที่ให้ความสำคัญของความสมดุลพอดี ระหว่างทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง ดังเช่น ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์
- ข้อมูลที่ใช้ จะต้องเป็นข้อมูลจริง ที่เกิดจากการศึกษา การวิจัย หรือการลงสนามให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง
- การสร้างภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
- การยึดหลักของความถูกต้อง คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของการสร้างภูมิต้านทานต่อผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น หรือที่จะเกิดขึ้น

เหล่านี้เป็นหลักการใหญ่ๆ ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องหรือคิดจะทำ โครงการหรือกิจกรรมในระดับค่อนข้างใหญ่ จะต้องคำนึงถึง และสามารถจะนำปรัชญานี้ไปใช้ได้ทันที และมีผู้ที่ได้ใช้ล้วนประสบความสำเร็จสูงสุดที่มนุษย์พึงจะมี คือ ความสุขที่ยั่งยืน
แล้วเรื่องของการแข่งขัน ชิงไหวชิงพริบ การวางแผนยุทธศาสตร์และโลจิสติกส์ ในการบริหารจัดการระบบ หรือโครงการใหญ่ๆ การใช้จิตวิทยามวลชน การใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า การกำหนดแผนหรือตนเองให้เป็น "ฝ่ายรุก" มิใช่ "ฝ่ายตั้งรับ" ล่ะ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงปฏิเสธหรือไม่?
คำตอบคือ ปฏิเสธ ถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้อง อย่างหลีกเลี่ยงกฎหมาย อย่างผิดคุณธรรม-จริยธรรม-และจรรยาบรรณ อย่างไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่และความรับผิดชอบ อย่างมีเจตนาเพื่อผลประโยชน์ที่ไม่สุจริตของตนเอง และพวกพ้อง แต่จะต้องรู้จักและใช้อย่างรู้เท่าทัน ปกป้อง และรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม อย่างมีความคิดก้าวหน้าในเชิงสร้างสรรค์

สำหรับการแก้ปัญหา หรือการเตรียมเผชิญกับปัญหาจากวิกฤตโลกร้อน มีประเด็นและเรื่องราวทั้งเก่าและใหม่ ดังเช่น เรื่องของมาตรการที่ถูกกำหนดขึ้นมา เพื่อเผชิญกับภาวะโลกร้อน เพื่อให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว และที่กำลังพัฒนา (ดังเช่นประเทศไทย) ได้ดำรงอยู่ร่วมกัน พึ่งพิง และเอื้ออาทรต่อกัน อย่างเหมาะสม ดังเช่น เรื่อง คาร์บอนเครดิต ที่เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ของประเทศไทย แต่ก็เป็นทั้ง "โอกาส" และ "ปัญหา" ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคนไทยเราเองว่า จะต้องเตรียมตัวกันอย่างไร เพื่อให้สามารถเป็น "ที่พึ่ง" ของโลกหรือประเทศอื่น แทนที่จะเป็น "ปัญหา" ที่เกิดจากความไม่ใส่ใจ หรือความใส่ใจ แต่เพื่อจะกอบโกยผลประโยชน์เท่านั้น

เรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับวิกฤตโลกร้อน จึงมีโจทย์ มีเป้าหมายมากมาย ที่ท้าทาย เชิญชวนให้ผู้คนและประเทศ ที่ต้องการมีชีวิตสร้างสรรค์และมีความสุขอย่างยั่งยืนได้นำไปใช้ โดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ กำกับด้วยสติ และควบคุมด้วยคุณธรรมกับจริยธรรม

บทความเรื่องนี้ เขียนขึ้นโดยประชาชนและนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ผู้ได้รับประโยชน์เกินร้อยจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำงานและดำเนินชีวิต ทั้งนี้ ด้วยความซาบซึ้งในพระอัจฉริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นทางรอด มิใช่เฉพาะสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์เท่านั้น หากรวมถึงสังคมโลกด้วย ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น